ตามนโยบายราชทัณฑ์ยุคใหม่ Next Normal ต่อต้านและป้องกันการทุจริต
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการสามัญประจำกรมราชทัณฑ์ (อ.ก.พ.) ครั้งที่ 1/2565 ที่พิจารณาลงโทษข้าราชการที่ทำผิดวินัย มีพฤติการณ์ที่เสื่อมเสีย ทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยที่ประชุมมีมติลงโทษข้าราชการที่กระทำผิดวินัย จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย ประกอบด้วยไล่ออกจากราชการ 5 ราย ปลดออกจากราชการ 4 ราย และให้ออกจากราชการ 1 ราย รายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

  1. กรณีบกพร่องต่อหน้าที่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์คือ
    มีหน้าที่ประจำประตูเรือนจำฯ ตรวจค้นบุคคลและยานพาหนะเข้า – ออกเรือนจำ แต่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังหลบหนีออกไปนอกเรือนจำโดยการสวมชุดเครื่องแบบเจ้าหน้าที่เดินผ่านประตูเรือนจำออกไปได้สำเร็จ (มติ อ.ก.พ. ปลดออกจากราชการ 4 ราย)
  2. กรณีทุจริตต่อหน้าที่ เรียกรับประโยชน์จากผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขัง โดยมีพฤติการณ์คือเรียกรับเงินจากญาติผู้ต้องขังเพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกภายในเรือนจำและพฤติการณ์ลักลอบนำสิ่งของที่ไม่อนุญาตไว้ในเรือนจำเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ และได้รับผลประโยชน์ตอบแทน (มติ อ.ก.พ.ไล่ออกจากราชการ 2 ราย)
  3. กรณีลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าไปในเรือนจำ โดยพฤติการณ์ คือ นำยาเส้นเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยได้รับเงินค่าตอบแทน (มติ อ.ก.พ. ไล่ออกจากราชการ 1 ราย )
  4. กรณีอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยมีพฤติการณ์คือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้ต้องขังจำหน่ายสินค้าเกินราคาที่เรือนจำกำหนด โดยได้รับประโยชน์ตอบแทน (มติ อ.ก.พ. ไล่ออกจากราชการ 1 ราย)
  5. กรณีประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์คือ ใช้อาวุธปืนยิงบุคคลภายในครอบครัวเสียชีวิต 5 ราย (มติ อ.ก.พ. ไล่ออกจากราชการ 1 ราย)
    6.กรณีมีมลทินมัวหมอง โดยมีพฤติการณ์คือ ถูกกล่าวหาว่าลักลอบนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยได้รับประโยชน์ตอบแทน (มติ อ.ก.พ. ให้ออกจากราชการ 1 ราย)
    นายอายุตม์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมราชทัณฑ์ ได้เน้นย้ำให้ข้าราชการในสังกัดปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยยึดถือระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ มีความพอเพียง พอประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บัญชาการเรือนจำและผู้อำนวยการทัณฑสถานทั่วประเทศจะต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบเกิดขึ้น พร้อมทั้งได้เปิดช่องทางการรับเรื่องราวร้องทุกข์ถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้โดยตรง ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กระทำผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจะถูกลงโทษขั้นเด็ดขาด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่