ปลัดฯ สุทธิพงษ์ ปาฐกถาพิเศษ “บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างชุมชนและวัดอย่างไรให้มีความสุขอย่างยั่งยืน” เน้นย้ำ บูรณาการภาคีเครือข่ายเสริมสร้างสังคมสุขภาวะ สร้างความสุขสังคมไทย ขยายผลช่วยสังคมโลก ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

 วันนี้ (15 พ.ย. 64) เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างชุมชนและวัดอย่างไรให้มีความสุขอย่างยั่งยืน" ในพิธีเปิดโครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะและเสวนาวิชาการงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นประธานในพิธีเปิด และพระเถรานุเถระ พระสงฆ์ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ และพุทธศาสนิกชน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมในพิธีและร่วมรับฟัง 

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นความเมตตาของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ที่ได้จัดโครงการพระสงฆ์สาธารณสงเคราะห์เสริมสร้างสังคมสุขภาวะและเสวนาวิชาการงานสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชน ซึ่งพระสงฆ์ในบวรพุทธศาสนาของไทย จะได้ร่วมผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และทุกภาคีเครือข่าย ร่วมกันขับเคลื่อนดูแลสังคม ดูแลพี่น้องคนไทย และชาติต่าง ๆ ให้มีความสุขกาย สุขใจ นับเป็นความปีติยินดีอย่างยิ่ง 

โดยที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่า พระสงฆ์อยู่คู่กับสังคมไทยในแวดวงสาธารณสงเคราะห์มาเนิ่นนาน เป็นที่พึ่งให้กับพุทธศาสนิกชนคนไทย และคนทุกชาติ ในทุกเรื่อง ทั้งในแง่ศาสนพิธีการ เช่น การเกิด การดูฤกษ์ยาม การตั้งชื่อ การแต่งงาน กระทั่งเสียชีวิต และในด้านการช่วยเหลือสังคม ที่คณะสงฆ์เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยและต่างชาติให้ได้รับความสุขกาย สุขใจ อบอุ่นใจ มีความสบายใจ อิ่มเอมใจ ในยามเกิดภัยพิบัติ และความทุกข์ยากอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาธารณสงเคราะห์ทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสุขใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ช่วยให้คนรู้จักการทำสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่องใส อยู่ในศีลในธรรม

 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า หน้าที่พิเศษอีกประการหนึ่งที่คณะสงฆ์ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นกิจกรรมที่พวกเราได้เห็น ได้สัมผัส ได้เรียนรู้มาโดยตลอด ดังเช่น เมื่อครั้งที่ผมได้เรียนที่โรงเรียนวัดแหลมงอบ (นิเทศก์อุปถัมภ์) หรือปัจจุบัน คือ โรงเรียนชุมชนวัดแหลมงอบ (นิเทศก์อุปถัมภ์)  ซึ่งก่อตั้งขึ้นด้วยความเมตตาของพระครูนิเทศธรรมญาณ อดีตเจ้าอาวาสวัดแหลมงอบ หรือหลวงพ่อหนิว ด้วยการอบรมสั่งสอนเด็กนักเรียนให้มีความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม ผ่านวัตรปฏิบัติในแต่ละวัน ทั้งการเคารพธงชาติ สวดมนต์ไหว้พระ จัดครูมาสอนวิชาความรู้ จึงเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ยืนยันได้ว่า วัดและโรงเรียนอยู่ควบคู่กันมา 

นอกจากนี้ วัดและพระสงฆ์ยังมีการสาธารณสงเคราะห์ที่ใช้พัฒนาคน พัฒนาชาติ จวบจนถึงปัจจุบัน ใน 4 ประการที่เห็นชัด คือ การเป็น “ครู คลัง ช่าง หมอ” อันหมายถึง ด้านการเป็น “ครู” ที่อบรมสั่งสอนทางโลกให้ได้มีความรู้ ด้านการเป็น “คลัง” ที่ให้เราหยิบยืมถ้วยโถโอชาม เป็นคลังอาหาร คลังสรรพวิทยาการ ให้พวกเราได้ตักน้ำไปกิน ไปใช้ ด้านการเป็น “ช่าง” ที่มีพระมากความสามารถ อาทิ งานช่างปูน ช่างไม้ ช่างแกะสลัก ให้ญาติโยมไปฝึก ไปเรียน ช่วยกันก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย และด้านการเป็น “หมอ” ที่รวมสรรพศาสตร์ทางด้านยาสมุนไพร แพทย์ทางเลือก หรือแม้แต่น้ำมนต์ ก็ส่งผลรักษาทางด้านกำลังใจ ที่มีคู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่