ท้าทายกว่าการได้มา คือ การรักษา เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไป หลัง Guinness World Records รับรอง “ไม้กลายเป็นหิน” ทุบสถิติยาวที่สุดในโลก 69.70 เมตร
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านอุทยานธรณีสู่การยกระดับเป็นอุทยานธรณีระดับโลก โดยมอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานรับมอบเอกสารรับรองในงานบันทึกสถิติโลก “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” ต่อ Guinness World Records ณ อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย – ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) จังหวัดตาก

สำหรับ “ไม้กลายเป็นหิน จังหวัดตาก” มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีทรัพยากรธรณีที่มีความอุดมสมบูรณ์จนเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยา และธรรมชาติวิทยา เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วย ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในจังหวัดตาก ต้องร่วมกันดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรณี รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ให้มีความสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น ความท้าทายกว่าการได้มาคือการรักษาเพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นถัดไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ขั้นตอนการดูแลรักษาไม้กลายเป็นหินเพื่อให้คงสภาพความสมบูรณ์นั้น จากการศึกษาวิจัยไม้กลายเป็นหินที่พบทั้ง 7 ต้น พบว่าเนื้อไม้ยังมีช่องว่าง กล่าวคือยังพบว่าบางส่วนไม่มีน้ำแร่ เข้าไปแทนที่ ดังนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารคลุมหลุม เพื่อป้องกันการผุพัง เนื่องจากพื้นที่จังหวัดตาก มีความร้อนในช่วงกลางวันสูง แต่ในเวลาช่วงกลางคืนเย็น ส่งผลให้เร่งการผุพัง อาคารคลุมหลุมจึงสามารถช่วยลดการผุพังได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่มีระดับน้ำใต้ดินไหลเข้ามาท่วมไม้กลายเป็นหิน จึงได้เตรียมการจัดทำระบบ ระบายน้ำ ไม่ให้น้ำท่วมขัง ที่ส่งผลให้เกิดการผุพังสูง นอกจากนี้ ในส่วนด้านบนต้องมีการป้องกันการผุพัง โดยการทาสารเคลือบผิวของไม้ด้วย
ในอนาคตจะได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอุทยานธรณี หรือ GEO PARK โดยต้องอาศัยความร่วมมือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรณีและทรัพยากรธรรมชาติ จากประชาชน ชุมชน ซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการเชื่อมโยงในธรณีวิทยากับวิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชนที่จะทำให้เกิดการขยายงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น
การขอรับรองจาก GWR ในครั้งนี้ทำให้เกิดการรวบรวมองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหิน โดยเฉพาะการอนุรักษ์มรดกธรรมชาติทางธรณีวิทยา และการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ล่วงรู้จากไม้กลายเป็นหินที่นี่ โดยเฉพาะการบันทึกเรื่องราวและการเปลี่ยนแปลงของโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ในพื้นที่บริเวณที่พบไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกนี้ ยังค้นพบไม้กลายเป็นหินที่เป็นต้นไม้ใหญ่อีก 6 ต้น ความยาวราว 30 – 45 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-2.0 เมตร และคาดว่าน่าจะมีไม้กลายเป็นหินอีกเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้ นับเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะไม่มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ใดในโลกที่มีการพบไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่รวมกันเช่นนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม การรับรองสถิติโลกครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญแห่งมิติใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาจังหวัดตาก สู่การยกระดับอุทยานธรณีระดับโลก ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้แก่เยาวชน และสร้างเสริมเศรษฐกิจชุมชนต่อไป

#ที่มา ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช

จะไม่พลาดข่าวสำคัญ ติดตามผลงานอ่านข่าวได้ที่

https://www.youtube.com/channel/UCWTu07cP_-GNgtULQWtA8qg

https://www.facebook.com/groups/www.songkhaodedthailand

https://www.facebook.com/SONGKHAODEDTHAILAND

ติดตามข่าวสารผ่าน line เพี่มเราเป็นเพื่อน

https://lin.ee/2mwTIpT

ส่งข่าวเด็ด

ตรงข่าว กระชับ ฉับไว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่